พลังงาน วางเป้าประชุม AMEM สัปดาห์หน้าหนุนอาเซียนใช้พลังงานทดแทน-เพิ่มซื้อขายไฟฟ้าพหุภาคี

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 30, 2019 18:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพูนพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง (ASEAN Ministers on Energy Meeting and Associated Meetings: 37th AMEM) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 2-6 ก.ย.นี้ มีเป้าหมายที่จะผลักดันและสนับสนุนการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการอาเซียนในประเด็นที่สำคัญ โดยเฉพาะการซื้อขายไฟฟ้าแบบพหุภาคีระหว่างไทย ลาว มาเลเซีย ที่มีการซื้อขายระหว่างกันในกรอบ 100 เมกะวัตต์ (MW) ก็จะผลักดันให้เพิ่มขึ้นเป็น 300 เมกะวัตต์ ในอนาคต หลังจากที่ปัจจุบันมีการปฎิบัติจริงด้วยการซื้อขายแล้วบางส่วน รวมถึงจะผลักดันขยายไปยังประเทศอื่น ๆ ในอนาคต

นอกจากนี้จะผลักดันให้อาเซียนมีการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นเป็นระดับ 23% ภายในปี 2568 จากปัจจุบันที่อยู่ระดับ 14% เนื่องจากทิศทางพลังงานของภูมิภาคคาดการณ์ว่าในช่วงปี 2533-2583 สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในอาเซียนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.7% ต่อปี ขณะที่พลังงานจากฟอสซิล เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.6% ต่อปี ตลอดจนจะผลักดันการปรับมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในอาเซียน เพื่อสนับสนุนการส่งออกและซื้อขายระหว่างกัน

รวมถึงการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด เพื่อให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น โดยเฉพาะในอินโดนีเซียที่มีปริมาณถ่านหินจำนวนมากก็ยังเชื่อว่ายังคงต้องดูแลการใช้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และการผลักดันการลดความเข้มการใช้พลังงานให้ได้ 20% ภายในปี 2563 แต่เมื่อปี 2560 สามารถทำได้ 21.7% ซึ่งบรรลุเป้าหมายแล้ว ก็อาจจะมีการวางเป้าหมายที่ท้าทายมากยิ่งขึ้น

นายพูนพัฒน์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการหารือความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างประเทศอาเซียน รวมถึงระหว่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา และระหว่างอาเซียนและองค์กรระหว่างประเทศในประเด็นด้านพลังงานต่าง ๆ โดยกรอบความร่วมมืออาเซียนมีประเด็นใน 7 สาขาหลัก ได้แก่ 1. ความเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน 2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับขนส่งก๊าซธรรมชาติ เพื่อเชื่อมโยงจากผู้ผลิตไปยังผู้ใช้ ที่ปัจจุบันมีเครือข่ายขนส่งทางท่อของภูมิภาคอาเซียน แต่ก็อาจจะมีการทบทวนเพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่จะมีการเปลี่ยนผ่านมาขนส่งทางเรือในรูปแบบของก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เห็นการซื้อขายในภูมิภาคมากขึ้น เพราะเริ่มเห็นการสร้างคลังที่มีหน่วยแปรสภาพเป็นก๊าซธรรมชาติมากขึ้น ดังนั้น ความร่วมมือด้านก๊าซฯ อาจเปลี่ยนเป็นการส่งเสริมการค้าขายก๊าซฯกันมากขึ้นแทนการเชื่อมโยงท่อก๊าซฯ

3. การส่งเสริมใช้เทคโนโลยีถ่านหิน เนื่องจากในอนาคตถ่านหินจะยังคงเป็นเชื้อเพลิงสำคัญในอาเซียนสำหรับผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีทรัพยากรถ่านหินสูง ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเป็นราคาที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย 4.การส่งเสริมพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ 5.การส่งเสริมพลังงานทดแทน 6. การส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและอนุรักษ์พลังงาน และ 7.การจัดทำนโยบายและแผนอาเซียนด้านพลังงาน รวมถึงเครือข่ายความร่วมมือด้านการกำกับกิจการพลังงาน

นายพูนพัฒน์ กล่าวว่า การหารือครั้งนี้คาดว่าจะมีการลงนาม MOU แลกเปลี่ยนความรู้ การศึกษาวิจัยเชื้อเพลิงชีวภาพ และความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)กับศูนย์พลังงานอาเซียน ส่วนการขยายการซื้อขายไฟฟ้าแบบพหุภาคีระหว่างลาว ไทย มาเลเซีย เป็น 300 เมกะวัตต์นั้น คาดว่าจะมีการลงนาม MOU ในช่วงเดือนก.ย.-ธ.ค.นี้

นอกจากนี้การประชุมครั้งนี้ไทยจะมีโอกาสหารือในระดับทวิภาคี ที่เบื้องต้นคาดว่าจะมีประเทศลาว เมียนมา มาเลเซีย และสิงคโปร์ และคาดว่าอาจจะมีประเทศอื่นๆเพิ่มเติม

การประชุม AMEM ครั้งที่ 37 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 ก.ย. 62 ณ โรงแรม ดิ แอทธินี กรุงเทพฯ โดยนอกจากจะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน 10 ประเทศแล้ว ยังจะมีการประชมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนและอาเซียนบวก 3 ครั้งที่ 13 ซึ่งประกอบด้วย จีน ,ญี่ปุ่น และเกาหลี รวมถึงมีประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนและอาเซียนบวก 8 ครั้งที่ 16 ซึ่งประกอบด้วย จีน , ญี่ปุ่น , เกาหลี , สหรัฐฯ , รัสเซีย ,อินเดีย ,นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย

โดยในวันที่ 2-3 ก.ย.จะเป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน จากนั้นวันที่ 4-5 ก.ย. จะป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ขณะเดียวกันจะมีการจัดงาน ASEAN Energy Business Forum (AEBF) ระหว่าง 2-5 ก.ย. 62 ซึ่งเป็นการจัดนิทรรศการและแสดงเทคโนโลยี คู่ขนานกับการจัดประชุม AMEM และในวันที่ 4 ก.ย. 2562 ในช่วงค่ำจะมีพิธีมองรางวัล ASEAN Energy Awards เพื่อกระตุ้นให้ภาครัฐและเอกชนร่วมกันผลักดันให้การขยายการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน และผลักดันให้เกิดการอนุรักษ์พลังงาน ผลักดันให้เกิดการใช้ถ่านหินสะอาดให้กับกลุ่มผู้ประกอบการของประเทศสมาชิกอาเซียนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ