ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ไม่มีค้ำประกัน TRUE ที่ "BBB+" หุ้นกู้ค้ำประกันบางส่วนที่ "A-" แนวโน้ม "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 7, 2020 18:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ที่ระดับ "BBB+" พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วนของบริษัทที่ระดับ "A-" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทในฐานะผู้นำในธุรกิจให้บริการโทรคมนาคมแบบครบวงจรในประเทศไทย ตลอดจนความแข็งแกร่งทางการตลาดของธุรกิจหลักของบริษัท และผลประกอบที่น่าพอใจ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทคือเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือกลุ่มซีพีและพันธมิตรเชิงกลยุทธ์คือ China Mobile International Holdings Ltd. (China Mobile) อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังมีปัจจัยลดทอนจากภาระหนี้สินทางการเงินที่อยู่ในระดับสูงของบริษัทและการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจหลัก ในขณะเดียวกัน การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณารวมไปถึงเงินลงทุนจำนวนมากที่บริษัทต้องใช้ในการขยายโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้เทคโนโลยีใหม่ ๆ และใช้ชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

เป็นผู้นำในธุรกิจให้บริการโทรคมนาคมแบบครบวงจร บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในฐานะที่เป็นผู้นำในธุรกิจให้บริการโทรคมนาคมแบบครบวงจรของไทย บริษัทดำเนินธุรกิจใน 3 กลุ่มหลัก คือ ธุรกิจการให้บริการสื่อสารแบบไร้สาย ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และธุรกิจบริหารการออกอากาศทางโทรทัศน์ บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานที่ระดับ 1.40 แสนล้านบาทในปี 2562 โดยส่วนหนึ่งเป็นรายได้จากการให้บริการจำนวน 1.05 แสนล้านบาท รายได้จากการให้บริการของบริษัทเติบโตเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ย 6% ต่อปีในช่วงปี 2560 ถึงปี 2562 ทริสเรทติ้งคาดว่าด้วยธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ตลอดจนการมีโครงสร้างโครงข่ายพื้นฐานที่แข็งแกร่งและแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่หลากหลาย รวมถึงการมีเครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วถึงของบริษัทจะช่วยคงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทเอาไว้ได้ต่อไป

มีอัตราการเติบโตเหนือคู่แข่งในธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นมีสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่ง โดยเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของไทยเมื่อพิจารณาจากรายได้และจำนวนของผู้ใช้บริการ บริษัทเป็นที่รู้จักภายใต้ตราสัญลักษณ์ "ทรูมูฟเอช" (TrueMoveH)

ในปี 2562 ทรูมูฟเอชมีจำนวนผู้ใช้บริการ 30.6 ล้านราย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 32.8% ของจำนวนลูกค้าทั้งหมดในอุตสาหกรรม บริษัทสามารถเพิ่มจำนวนลูกค้าได้ทั้งลูกค้าในระบบเติมเงินและในระบบรายเดือนโดยคิดเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 1.44 ล้านรายในปี 2562 เทียบกับคู่แข่งรายอื่นที่ไม่สามารถเพิ่มลูกค้าในระบบเติมเงินได้

ในปี 2562 ทรูมูฟเอช สร้างรายได้จากการให้บริการซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (Interconnection Charge - IC) ที่ระดับ 7.77 หมื่นล้านบาท เติบโต 6.7% จากปี 2561 บริษัทมีการเติบโตของรายได้ในอัตราที่สูงกว่าอุตสาหกรรม โดยในปี 2562 ตลาดสื่อสารแบบไร้สายในประเทศไทยสร้างรายได้จากการให้บริการรวมทั้งสิ้นประมาณ 2.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% จากปี 2561 และมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยที่ระดับ 3.7% ต่อปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่บริษัทมีการเติบโตของรายได้จากการให้บริการในอัตราเฉลี่ย 10.5% ต่อปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก

ในด้านส่วนแบ่งทางการตลาดเมื่อพิจารณาจากรายได้แล้ว ทรูมูฟเอชมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับ 28.8% ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจากระดับ 27.9% ในปี 2561 และระดับ 26.6% ในปี 2560 อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทเมื่อพิจารณาจากรายได้แล้วถือว่าต่ำกว่าส่วนแบ่งทางการตลาดของจำนวนผู้ใช้บริการเนื่องจากรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อลูกค้า 1 ราย (Average Revenue Per User -- ARPU) ของผู้ใช้บริการของทรูมูฟเอชอยู่ในระดับต่ำกว่าของคู่แข่ง ทริสเรทติ้งคาดว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการสื่อสารข้อมูลจำนวนมากและการโอนย้ายลูกค้าแบบเติมเงินมาเป็นลูกค้าแบบรายเดือนซึ่งมี ARPU สูงกว่าจะช่วยเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อเดือนโดยรวมให้แก่บริษัทได้

ในช่วง 3 ปีข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการให้บริการในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเติบโตเล็กน้อย โดยทริสเรทติ้งเชื่อว่าความต้องการใช้บริการสื่อสารข้อมูลที่เพิ่มขึ้นจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สร้างการเติบโตให้แก่อุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในอุตสาหกรรมก็จะยังคงรุนแรงซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการสร้างการเติบโตของรายได้ ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาอัตราการขยายฐานลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องต่อไปโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการมีจำนวนคลื่นความถี่ที่เพียงพอ โครงข่ายที่มีคุณภาพ ตราสัญลักษณ์ที่เป็นที่ยอมรับ และช่องทางการจัดจำหน่ายที่กว้างขวางของบริษัทที่เกี่ยวข้อง

มีคลื่นความถี่จำนวนมากและเพียงพอ ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น มีจำนวนคลื่นความถี่ (Spectrum Portfolio) ในจำนวนที่มากและเพียงพอที่จะรองรับความต้องการในการใช้บริการข้อมูลที่เพิ่มขึ้นของลูกค้าได้ โดยบริษัทมีคลื่นที่ครอบคลุมทุกคลื่นความถี่ทั้งช่วงความถี่สั้น ช่วงความถี่ปานกลาง และช่วงความถี่สูง ซึ่งคลื่นความถี่ที่มีมากเพียงพอแสดงถึงความสามารถในการส่งข้อมูลสื่อสารที่สูงกว่า ในเดือนมิถุนายน 2562 หลังจากที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ (Megahertz -- MHz) บริษัทซึ่งดำเนินการผ่านทางบริษัททรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่จำนวน 10 เมกะเฮิรตซ์ที่ราคา 1.76 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ จากประกาศของ กสทช. ระบุว่าจะมีการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประมูลได้ในเดือนตุลาคม 2563 ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 บริษัททรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น ยังเป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 26 กิ๊กกะเฮิรตซ์ (Gigahertz -- GHz) ด้วยจำนวนคลื่นความถี่รวม 800 เมกะเฮิรตซ์ที่ราคา 3.6 พันล้านบาทอีกด้วย

นอกจากนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 บริษัททรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น ยังเป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์อีกจำนวนทั้งสิ้น 90 เมกะเฮิรตซ์ที่ราคา 1.79 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ คลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์เป็นคลื่นความถี่สำคัญที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศจีนประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีรุ่นที่ 5 หรือ 5G (Fifth Generation) ด้วยอุปกรณ์สื่อสารที่หลากหลายจากประเทศจีน ประเทศจีนเป็นประเทศผู้นำลำดับแรก ๆ ที่พัฒนาเทคโนโลยี 5G และได้มีการขยายสถานีฐานสำหรับเทคโนโลยีดังกล่าวแล้ว ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่า China Mobile ซึ่งเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ของกลุ่มทรูจะช่วยสนับสนุนบริษัทในด้านเทคโนโลยี 5G และอุปกรณ์สื่อสารได้

โครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งและครอบคลุมช่วยเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทรูออนไลน์ (TrueOnline) ซึ่งเป็นธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของกลุ่มทรู เป็นผู้นำในธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 37.5% ณ เดือนกันยายน 2562 แม้จะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงแต่ทรูออนไลน์ก็ยังคงสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดเอาไว้ได้ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดที่ประมาณ 38% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านจากปัจจัยสนับสนุนคือการมีโครงข่ายส่งสัญญาณที่กว้างขวางที่เรียกว่า Fiber-to-the-Home (FTTH) ที่ครอบคลุมกว่า 15 ล้านครัวเรือนจาก 22 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ

ในช่วงสิ้นปี 2562 บริษัทมีลูกค้าที่เป็นสมาชิกอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงรวม 3.81 ล้านราย เพิ่มขึ้น 0.32 ล้านรายจากปลายปี 2561 บริษัทมีรายได้จากการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ไม่รวมการขายสินทรัพย์ให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัล (Digital Telecommunications Infrastructure Fund -- DIF) จำนวนประมาณ 2.35 หมื่นล้านบาทในปี 2562 ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของทรูออนไลน์จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งและเครือข่ายที่ครอบคลุม นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าจะมีการแข่งขันด้านราคาในบางพื้นที่ที่มีการแข่งขันสูงเพื่อที่ผู้ประกอบการจะรักษาลูกค้าเอาไว้ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้จากการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่เติบโตในระดับเล็กน้อยถึงปานกลางต่อปีในช่วงปี 2563-2565

ธุรกิจทรูวิชั่นส์เป็นหนึ่งในธุรกิจหลักในการส่งเสริมกลยุทธ์ Convergence ของกลุ่มทรู ทริสเรทติ้งมองว่าธุรกิจทรูวิชั่นส์เป็นหนึ่งในธุรกิจหลักที่มีบทบาทในการส่งเสริมกลยุทธ์ Convergence ของกลุ่มทรูในระยะปานกลาง โดยทรูวิชั่นส์จะดำเนินบทบาทเป็นหนึ่งใน 3 ธุรกิจหลักในแผนกลยุทธ์ Convergence ของกลุ่ม ทั้งนี้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในอุตสาหกรรมการออกอากาศทางโทรทัศน์ ผู้ชมเริ่มหันมารับชมรายการผ่านสื่อออนไลน์ที่อาศัยการส่งสัญญาณผ่านอินเทอร์เน็ตในรูปแบบ Over-the-Top (OTT) มากยิ่งขึ้นกว่าการชมผ่านจอโทรทัศน์แบบเดิม ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมของอุตสาหกรรมนี้ บริษัทพยายามที่จะเพิ่มจำนวนผู้รับชมรายใหม่ ๆ ด้วยการพัฒนาช่องทางการรับชมผ่าน OTT ของบริษัทด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ บริษัทยังพัฒนากล่อง "TrueID" เพื่อให้ลูกค้าสามารถรับชมรายการต่าง ๆ ผ่านทางบริการสตรีมมิ่ง (Streaming) ทางโทรทัศน์ในระบบ Android หรือผ่านช่องทาง OTT อีกทั้งยังเพิ่มเครื่องมืออื่น ๆ เพื่อเพิ่มลูกค้าใหม่อีกด้วย

ณ เดือนธันวาคม 2562 ทรูวิชั่นส์มีจำนวนลูกค้าประมาณ 4 ล้านรายซึ่งเป็นจำนวนที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับปีก่อน และมีรายได้ประมาณ 9.7 พันล้านบาทในปี 2562 ในช่วง 3 ปีข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของทรูวิชั่นส์จะอยู่ในช่วง 8-9 พันล้านบาทต่อปี

ได้รับผลกระทบปานกลางจากไวรัสโควิด-19 ทริสเรทติ้งคาดว่าการห้ามเดินทางและการจำกัดการดำเนินกิจกรรมทางสังคมเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 จะส่งผลทำให้รายได้จากซิมท่องเที่ยวและรายได้บริการข้ามแดนอัตโนมัติ (International Roaming) รวมถึงบริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศของบริษัทลดลงในช่วงการออกมาตรการปิดประเทศ ซึ่งรายได้ที่เกี่ยวข้องกับบริการข้ามแดนอัตโนมัติและการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3%-4% ของรายได้จากการให้บริการสื่อสารไร้สายของบริษัทในปี 2562 ส่วนรายได้จากการให้บริการโทรทัศน์ระบบเคเบิ้ลนั้น ทริสเรทติ้งคาดว่าจะได้รับผลกระทบในระดับหนึ่งเนื่องจากโรงแรมหลายแห่งที่เป็นลูกค้าของทรูวิชั่นส์ต้องปิดดำเนินการชั่วคราวในช่วงมาตรการปิดประเทศ

แต่ในทางตรงกันข้าม ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการให้บริการสื่อสารข้อมูลจะเติบโตเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้ที่สูงขึ้นอันเป็นผลมาจากมาตรการการขอความร่วมมือทำงานจากบ้าน (Work-from-Home) ของรัฐบาล นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะมีจำนวนผู้ใช้บริการในธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพิ่มมากขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ประชาชนจำนวนมากสามารถทำงานและเรียนหนังสือจากบ้านในช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้ประชาชนต้องการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้นและทำให้มีการใช้บริการสื่อสารข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย

กระแสเงินสดจากการดำเนินคาดว่าจะเติบโตขึ้น ในช่วงปี 2563-2565 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้รวมอยู่ในช่วง 1.35-1.40 แสนล้านบาทต่อปี ในขณะที่ความสามารถในการทำกำไรจะได้รับแรงกดดัน โดยอัตรากำไรจะได้แรงกดดันจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงข่ายและค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจำนวนมากจากโครงข่ายที่ขยายใหญ่ขึ้นและจากค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ใหม่ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดหวังให้บริษัทควบคุมค่าใช้จ่ายและบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อสร้างกระแสเงินให้เติบโตขึ้น โดยทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทน่าจะอยู่ที่ระดับ 31%-33% ในช่วงระหว่างปี 2563-2565 และเงินทุนจากการดำเนินงานน่าจะอยู่ในช่วง 2.6-2.9 หมื่นล้านบาทต่อปี

ภาระหนี้จะเพิ่มสูงขึ้น อันดับเครดิตของบริษัทมีข้อจำกัดจากการมีความเสี่ยงทางการเงินที่มีการลงทุนในระดับสูง โดยบริษัทมีภาระหนี้ที่สูง กล่าวคือ ในปี 2562 บริษัทมีหนี้สินปรับปรุงสุทธิอยู่ที่ 3.19 แสนล้านบาท ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 8.1 เท่า ณ สิ้นปี 2562

ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าหนี้สินทางการเงินของบริษัทน่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อพิจารณาจากเงินลงทุนจำนวนมากสำหรับขยายโครงข่ายที่จะอยู่ในระดับประมาณ 3 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565 และภาระในการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่อีกปีละ 9.4 พันล้านบาทถึง 2.93 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 8-9 เท่า

ทริสเรทติ้งคาดว่าอุตสาหกรรมการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประเทศไทยจะยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งกว่าจะเริ่มให้บริการเทคโนโลยี 5G ในเชิงพาณิชย์ได้ เทคโนโลยี 5G อาจต้องใช้เวลาในการพัฒนาทั้งในส่วนของเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจำนวนและความหลากหลายของอุปกรณ์ที่จะสามารถรองรับบริการ 5G อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ใช้บริการที่มีโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่รองรับสัญญาณ 5G ได้อีกด้วย ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าตลาดจะยังคงใช้เทคโนโลยี 4G เป็นหลักเพื่อรองรับและตอบสนองความต้องการใช้บริการด้านข้อมูลให้เพียงพอและรวดเร็วในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า

สภาพคล่องอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องของบริษัทในระยะ 12-24 เดือนข้างหน้าจะอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ โดยบริษัทมีแหล่งเงินทุนที่มาจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 4.95 หมื่นล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2562 และคาดว่าจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานอีกประมาณ 2.6-2.9 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2665 ในขณะที่ความต้องการใช้เงินทุนจะประกอบด้วยเงินลงทุนโครงข่ายประมาณ 3 หมื่นล้านบาทต่อปีและภาระการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่อีก 9.4 พันล้านบาทถึง 2.93 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า บริษัทมีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระในปี 2563 ประมาณ 3.28 หมื่นล้านบาทและอีก 5.46 หมื่นล้านบาทจะครบกำหนดชำระในปี 2564 โดยคาดว่าบริษัทจะทำการกู้เงินก้อนใหม่เพื่อนำมาชำระหนี้สินที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12-24 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ในกรณีที่บริษัทมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินทุนเพิ่มเติม บริษัทมีแหล่งเงินทุนที่สามารถสร้างความยืดหยุ่นทางการเงินเพิ่มเติมได้จากการขายสินทรัพย์ให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัลหรือขายหน่วยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัลที่บริษัทถืออยู่หากมีความจำเป็น

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

-รายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของบริษัทจะเติบโตเล็กน้อยถึงปานกลางในช่วงปี 2563-2565

  • อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับ 31%-32% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
  • เงินลงทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 3 หมื่นล้านบาทต่อปีเพื่อใช้ขยายโครงข่ายการให้บริการในช่วง 3 ปีข้างหน้า
  • ภาระการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ปีจะอยู่ที่ 9.4 พันล้านบาทถึง 2.93 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความแข็งแกร่งของสถานะทางการตลาดเอาไว้ได้และจะมีผลการดำเนินงานที่ดีในกลุ่มธุรกิจหลักซึ่งได้แก่ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมทั้งยังคาดหวังว่าบริษัทจะได้รับการสนับสนุนจากเครือเจริญโภคภัณฑ์และ China Mobile อย่างต่อเนื่องซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนคุณภาพเครดิตของบริษัท

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทมีจำกัดในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้าเมื่อพิจารณาถึงฐานะการเงินของบริษัทในปัจจุบันซึ่งมีภาระหนี้สูง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญพร้อมกับลดภาระหนี้สินทางการเงินลงได้ ในขณะที่อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงจนส่งผลให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินต่ำกว่า 5% เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง

ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับข้อพิพาทด้านกฎหมายต่าง ๆ ที่มีมาในอดีต เช่น ค่าธรรมเนียมเพื่อใช้โครงข่าย (Access Charge) หรือการประเมินภาษีสรรพสามิตนั้นยังคงดำรงอยู่และจะต้องใช้เวลาในการพิจารณาวินิจฉัย ทั้งนี้ อันดับเครดิตอาจได้รับแรงกดดันในทางลบหากผลสรุปของคดีความมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสถานะทางการเงินของบริษัท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ