ทริสฯคงเครดิตองค์กร HMPRO ที่ "AA-" แนวโน้ม "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 28, 2020 12:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) ที่ระดับ "AA-" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" โดยอันดับเครดิตยังคงสะท้อนสถานะการเป็นผู้นำการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกสินค้าเกี่ยวกับบ้านในประเทศไทย รวมไปถึงสถานะทางการเงินที่ดี อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนลงจากความกดดันที่เกิดจากการแข่งขันที่รุนแรง และความกังวลที่เพิ่มขึ้นจากความไม่แน่นอนในการบริโภค อันเนื่องมาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ที่กำลังระบาดอยู่

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

-ผลกระทบจากโรคโควิด 19 มีแนวโน้มจะทำให้รายได้ของบริษัทลดลงประมาณ 6% ในปี 2563 รายได้รวมจากการขายของบริษัทลดลงอย่างมากในช่วงที่มีการปิดพื้นที่เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 บริษัทมีรายได้รวมจากการขายในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ลดลง 11.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว มาอยู่ที่ระดับ 2.84 หมื่นล้านบาท ซึ่งเกิดจากยอดขายสาขาเดิมของบริษัทที่ลดลง 11.6% บริษัทปิดสาขาชั่วคราว 79 สาขา (คิดเป็น 70% ของจำนวนสาขาทั้งหมด) ในช่วงครึ่งหลังของเดือนมีนาคม

นอกจากนี้ บริษัทยังปิด 83 สาขา (73%) ในเดือนเมษายน และ 46 สาขา (41%) ในช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือนพฤษภาคม อย่างไรก็ตาม รายได้จากการขายหน้าร้านที่ลดลงนั้นได้รับการชดเชยบางส่วนจากการขายออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น โดยบริษัทมีรายได้จากการขายผ่านช่องทางออนไลน์ประมาณ 400-500 ล้านบาทต่อเดือน เมื่อเทียบกับรายได้เดือนละประมาณ 70-80 ล้านบาทต่อเดือนในช่วงก่อนการปิดพื้นที่

นอกจากนี้ รายได้ค่าเช่าของบริษัทลดลงประมาณ 44.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ระดับ 595 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 หลังจากที่บริษัทปรับลดค่าเช่าให้แก่ผู้เช่าลงโดยเฉลี่ยประมาณ 50% ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ค่าเช่าของบริษัทจะลดลงประมาณ 46% ในปี 2563 และเติบโตประมาณ 25%-30% ในช่วงระหว่างปี 2564-2565

ทริสเรทติ้งคาดว่าภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องในปัจจุบันจะส่งผลกระทบทำให้อุปสงค์ภายในประเทศในปี 2563 ยังคงอ่อนตัวลง และคาดว่ารายได้รวมจากการขายของบริษัทจะลดลง 6% ในปี 2563 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และจะเติบโตที่ระดับ 2%-4% ต่อปีในระหว่างปี 2564-2565

-ความสามารถในการทำกำไรปรับลดลงแต่ยังคงยอมรับได้ อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 24.8% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 ลดลงจากเดิมที่ระดับ 25.0% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน อันเกิดจากการที่บริษัทมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูงที่ลดลง เนื่องจากบริษัทขายสินค้าที่มีอัตรากำไรต่ำเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปี

รายได้จากกลุ่มสินค้าภายใต้ตราสินค้าของบริษัทและสินค้านำเข้าซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงกว่านั้นมีสัดส่วนคิดเป็น 19%-20% ของยอดขายรวมของบริษัทในช่วงปี 2562 จนถึง 6 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนของสินค้าภายใต้ตราสินค้าของบริษัทและสินค้านำเข้าให้เป็น 20.5% ของยอดขายในปี 2563 และเพิ่มขึ้นเป็น 25% ในระยะยาว อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลงเป็น 15.3% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 เมื่อเทียบกับ 16.2% ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562

อย่างไรก็ตาม บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลงได้ โดยส่วนใหญ่เป็นการลดค่าใช้จ่ายที่มาจากค่าตอบแทนพนักงานล่วงเวลา ค่าตอบแทนการขาย ค่าใช้จ่ายค่าเช่า และค่าใช้จ่ายทางการตลาด ดังนั้น อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อรายได้ของบริษัทยังคงไม่เปลี่ยนแปลงที่ 17.4% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 13%-15% ในช่วงปี 2563-2565

-ภาระหนี้เพิ่มขึ้นมีแนวโน้มที่จะดีขึ้น หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทเพิ่มขึ้น 4.5 พันล้านบาท อันเนื่องมาจากสัญญาเช่าดำเนินงานที่บริษัทมีการนำมาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทย (TFRS) ฉบับที่ 16 มาใช้ ดังนั้น อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินรวมต่อเงินทุนของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 45.0% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 เพิ่มขึ้นจาก 41.0% ณ สิ้นปี 2562

บริษัทมีแผนจะเปิดสาขาจำนวน 2-4 สาขาต่อปี ในทุกรูปแบบในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เมื่อเทียบกับ 5-6 สาขาต่อปีในปี 2561-2562 ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายลงทุนที่ระดับ 3-3.5 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2563-2565 ดังนั้น คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 35%-39% ในระหว่างปี 2563-2565 จาก 43%-44% ในปี 2561-2562

ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 1.7 เท่า ในปี 2563 อันเนื่องมาจากผลกระทบจากโรคระบาดโควิด 19 และจะปรับตัวดีขึ้นเป็น 1.2-1.4 เท่า ในปี 2564-2565

-มีสภาพคล่องที่ดี ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาสภาพคล่องที่ดีในช่วงระยะ 12-18 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทมีกำหนดการที่จะต้องชำระหนี้ที่จำนวน 3.2-4 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2563-2565 ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานพื้นฐานสำหรับกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทที่ประมาณ 8.3 พันล้านบาทถึง 1.03 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยที่ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 บริษัทมีเงินสดในมือและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 3.7 พันล้านบาท

-สถานะผู้นำทางการตลาดในธุรกิจค้าปลีกสินค้าเกี่ยวกับบ้าน บริษัทเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกสินค้าเกี่ยวกับบ้านในประเทศไทยซึ่งมียอดจำหน่ายรวมอยู่ในอันดับที่ 1 ในอุตสาหกรรมมายาวนานมากกว่าทศวรรษ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมทั้ง 6 ราย ได้แก่ "โฮมโปร", " ซีอาร์ซี ไทวัสดุ", "สยามโกลบอลเฮ้าส์", "ดูโฮม", "บุญถาวร", และ "อินเด็กซ์ ลิฟวิ่ง มอลล์"

รายได้รวมจากการขายของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 62.6 หมื่นล้านบาท จาก 2.03 หมื่นล้านบาทในปี 2552 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีที่ระดับ 12% บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ทั้งนี้ บริษัทมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ในช่วงระหว่าง 14%-17% ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าสูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่รายอื่นในอุตสาหกรรมที่มีอัตรากำไรโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 9%-10%

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

-รายได้รวมจากการขายของบริษัทจะลดลง 6% ในปี 2563 และเติบโตที่ระดับ 2%-4% ในระหว่างปี 2564-2565

-อัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับ 25%-28% และ13%-15% ตามลำดับ

-ค่าใช้จ่ายลงทุนรวมจะอยู่ที่ประมาณ 3-3.5 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2563-2565

-สมมติฐานอื่น ๆ เป็นไปตามแนวโน้มในอดีต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะผู้นำในธุรกิจค้าปลีกสินค้าเกี่ยวกับบ้านในประเทศไทยได้ต่อไป อีกทั้งยังคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้แม้ว่าบริษัทจะมีการขยายธุรกิจก็ตาม

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทสามารถเพิ่มกระแสเงินสดในขณะที่ยังคงสามารถรักษาความแข็งแกร่งของงบการเงินเอาไว้ได้ ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากบริษัทมีผลการดำเนินงานที่ลดลงต่ำกว่าคาด หรือหากระดับภาระหนี้ของบริษัทสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากการขยายการลงทุนอย่างมากหรือการมีผลการดำเนินงานที่ปรับตัวลดลงก็ตาม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ