ทริสฯลดอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ RATCH เป็น AA+ จาก AAA แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 5, 2021 16:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ. ราช กรุ๊ป (RATCH) เป็นระดับ "AA+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" จากเดิมที่ระดับ "AAA"

การลดอันดับเครดิตสะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะมีระดับเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะ 3 ปีข้างหน้าจากผลของการลงทุนขนาดใหญ่ในอนาคตเพื่อรักษากำลังการผลิตไฟฟ้าและเพื่อดำเนินการตามกลยุทธ์การเติบโตของบริษัท

อันดับเครดิตที่ระดับ "AA+" นั้นยังคงสะท้อนสถานะผู้นำของบริษัทในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและการมีโรงไฟฟ้าที่หลากหลาย นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้อย่างแน่นอนของบริษัทจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) (ได้รับอันดับเครดิต "AAA" แนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่" จากทริสเรทติ้ง) อีกด้วย

อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทนั้นยังสะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งที่เห็นว่าบริษัทเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ กฟผ. อีกด้วย โดยอันดับเครดิตของบริษัทนั้นได้รับการปรับเพิ่มขึ้น 1 ขั้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัท (Stand-alone Credit Profile) ซึ่งอยู่ที่ระดับ "aa"

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

  • ช่วงเวลาแห่งการลงทุนรออยู่ข้างหน้า ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงแสวงหาโอกาสในการลงทุนอย่างต่อเนื่องต่อไปโดยมีเป้าหมายเพื่อจะชดเชยกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าของบริษัทบางส่วนที่จะหยุดดำเนินการในอนาคตอันใกล้ ปัจจุบันโรงไฟฟ้าของ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยหลัก มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 3,645 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นประมาณ 50% ของกำลังการผลิตรวมของบริษัท สัญญาซื้อขายไฟฟ้าของบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด กำลังทยอยหมดอายุ ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจำนวน 2 หน่วยกำลังการผลิต 1,470 เมกะวัตต์จะหมดอายุในปี 2568 และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมอีกจำนวน 3 หน่วยซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 2,175 เมกะวัตต์ก็จะหมดอายุในปี 2570

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าให้ได้ถึง 10,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2568 อีกด้วย ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากการลงทุนในปัจจุบันของบริษัทแล้ว บริษัทจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุนรวมทั้งสิ้น 9,221 เมกะวัตต์ในปี 2568 ซึ่งรวมถึงการซื้อสัดส่วนการลงทุนจำนวน 45.5% ในโรงไฟฟ้าถ่านหิน "Paiton" ในประเทศอินโดนีเซียด้วย กำลังการผลิตส่วนที่จะหมดอายุไปนั้นสร้างแรงกดดันให้บริษัทต้องมองหาโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงการที่สร้างขึ้นใหม่ (Greenfield Project) หรือการซื้อสินทรัพย์โรงไฟฟ้าที่ดำเนินงานแล้วเข้ามาเพื่อที่จะให้บรรลุเป้าหมายและเพื่อชดเชยรายได้ที่จะลดลงจากการหยุดดำเนินงานของโรงไฟฟ้าของบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรี ในอนาคต

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 บริษัทประกาศว่าบริษัทได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นเพื่อซื้อสัดส่วนการลงทุน 45.5% ในโรงไฟฟ้า Paiton ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ตั้งอยู่บนเกาะชวาตะวันออกของประเทศอินโดนีเซีย ทั้งนี้ โรงไฟฟ้า Paiton เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระรายแรกและเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอินโดนีเซียซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 2,045 เมกะวัตต์โดยประกอบด้วยหน่วยผลิตไฟฟ้า 3 หน่วย โรงไฟฟ้า Paiton สามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 13,500 กิกะวัตต์-ชั่วโมง (ล้านหน่วย) ต่อปี หรือคิดเป็นประมาณ 10% ของอุปสงค์การใช้ไฟฟ้าในเกาะชวา

โรงไฟฟ้า Paiton มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ PT Perusahaan Listrik Negara (PLN) ซึ่งเป็นหน่วยงานการไฟฟ้าของประเทศอินโดนีเซีย สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะหมดอายุสัญญาในปี 2585 (ระยะเวลาคงเหลือ 21 ปี) โดยบริษัทคาดว่าธุรกรรมการลงทุนในครั้งนี้จะแล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2565 และ โรงไฟฟ้าแห่งนี้จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าให้แก่บริษัทที่ประมาณ 931 เมกะวัตต์

  • อัตราส่วนทางการเงินอ่อนแอลง ทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนทางการเงินที่อ่อนแอลงในช่วงปี 2564-2566 จากแผนการลงทุนของบริษัทเพื่อชดเชยรายได้ที่จะลดลงของบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรี ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีภาระหนี้เงินกู้เพิ่มขึ้น ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้เงินประมาณ 5.4 หมื่นล้านบาทในระหว่างปี 2564-2566 สำหรับค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนและการลงทุนของบริษัทซึ่งครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อการซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ รวมถึงการลงทุนเพื่อให้โครงการที่มีอยู่ในมือแล้วเสร็จ การลงทุนในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ตลอดจนงบประมาณผูกพัน (Committed) และไม่ผูกพัน (Uncommitted) สำหรับการซื้อโรงไฟฟ้าซึ่งรวมถึงการซื้อสัดส่วนการลงทุนในโครงการ Paiton ด้วย

บริษัทมีแผนจะทำการเพิ่มทุนอีกประมาณ 3 หมื่นล้านบาทเพื่อใช้ในการลงทุนดังกล่าว โดยการเพิ่มทุนนี้คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในครึ่งแรกของปี 2565 ทั้งนี้ การลงทุนต่าง ๆ ดังกล่าวน่าจะช่วยเพิ่มกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทขึ้นเป็นประมาณ 1.25-1.35 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2565-2566 จากประมาณ 1 หมื่นล้านบาทในปี 2562

อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะเพิ่มเป็นประมาณ 6 เท่าในปี 2564 ก่อนที่จะปรับตัวลดลงเหลือที่ประมาณ 4-5 เท่าในช่วงปี 2565-2566 หลังจากที่บริษัทได้รับเงินเพิ่มทุน โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ประมาณการนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากระดับ 1-2 เท่าที่บริษัทเคยทำได้ในช่วงปี 2560-2562 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 50% ในช่วงสิ้นปี 2564 ก่อนที่จะปรับลดลงเหลือประมาณ 35%-40% ในช่วงปี 2565-2566

ภายใต้ประมาณการของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้เงินปันผลรับจากการลงทุนที่ประมาณ 1.5-2 พันล้านบาทในปี 2564 และเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 4.5-6.5 พันล้านบาทในระหว่างปี 2565-2566 หลังจากที่บริษัทรับรู้ผลตอบแทนจากการซื้อสินทรัพย์โรงไฟฟ้าอย่างเต็มที่แล้ว

  • เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศ บริษัทยังคงมีสถานะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศ โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้นจำนวน 7,053 เมกะวัตต์โดยคิดตามสัดส่วนความเป็นเจ้าของในแต่ละโครงการ ทั้งนี้ เมื่อรวมโครงการที่อยู่ในระหว่างขั้นตอนการพัฒนา การก่อสร้าง และการเจรจาต่อรองแล้ว กำลังการผลิตของบริษัทจะมีทั้งสิ้น 9,221 เมกะวัตต์ โดยกำลังการผลิตของบริษัทที่เชื่อมต่อกับโครงข่ายระบบไฟฟ้าของ กฟผ. มีจำนวนทั้งสิ้น 5,232 เมกะวัตต์โดยคิดเป็น 11% ของกำลังการผลิตรวมของประเทศไทย

ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 โรงไฟฟ้าของบริษัทที่ดำเนินงานแล้วประมาณ 75% มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยทั้ง กฟผ. และ กฟภ. นั้นได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ "AAA" พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" จากทริสเรทติ้ง ส่วนกำลังการผลิตที่เหลือของบริษัทนั้นมาจากโรงไฟฟ้าในต่างประเทศที่ดำเนินงานภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับหน่วยงานสาธารณูปโภคที่สำคัญในประเทศนั้น ๆ ซึ่งรวมถึงโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทสาธารณูปโภคท้องถิ่นของประเทศออสเตรเลียซึ่งอยู่ในสัดส่วน 17% ของกำลังการผลิตรวมของบริษัท ตลอดจน Electricite du Laos (EDL) ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ในสัดส่วน 4% Vietnam Electricity (EVN) ของประเทศเวียดนาม 2% และ PLN ในประเทศอินโดนีเซียอีก 1%

  • กระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้อย่างแน่นอนจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวที่มีกับ กฟผ. กระแสเงินสดของบริษัทสามารถคาดการณ์ได้อย่างแน่นอนจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. โดยสัญญาดังกล่าวมีโครงสร้างราคาไฟฟ้าบนพื้นฐานของความพร้อมจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าซึ่งช่วยบรรเทาความเสี่ยงด้านการตลาดได้เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวยังมีกลไกในการส่งผ่านต้นทุนค่าเชื้อเพลิงไปให้แก่ กฟผ. อีกด้วย ดังนั้น กระแสเงินสดของบริษัทจึงคาดว่าจะยังคงมีความแน่นอนสูงต่อไปตราบใดที่บริษัทสามารถดำรงความพร้อมของโรงไฟฟ้าให้เป็นไปตามเป้าหมายของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพื่อจ่ายไฟฟ้าตามคำสั่งของ กฟผ. ได้ ซึ่งในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ของบริษัทสามารถบรรลุเป้าหมายความพร้อมจ่ายทุกปี

สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้าที่บริษัทลงทุนในประเทศออสเตรเลียนั้นก็สามารถสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายให้แก่บริษัทได้อย่างสม่ำเสมอที่ประมาณ 1.5-2 พันล้านบาทต่อปีและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 2.5-3 พันล้านบาทต่อปีนับตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไปเมื่อโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเริ่มดำเนินงานได้ ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 กลุ่มโรงไฟฟ้าที่ดำเนินงานแล้วของบริษัทในประเทศออสเตรเลียมีกำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นเป็น 1,250 เมกะวัตต์หลังจากที่โครงการ "Yandin" และโครงการ "Collector" เริ่มเปิดดำเนินงานในเดือนมีนาคมและเมษายน 2564 ตามลำดับ ทั้งนี้ ประมาณ 90%-95% ของกำลังการผลิตดังกล่าวมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทสาธารณูปโภครายใหญ่หลายแห่งในประเทศออสเตรเลีย

  • ความหลากหลายของการลงทุน ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา บริษัทได้ขยายขอบเขตการลงทุนไปยังธุรกิจสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่น ๆ หลายโครงการ โดยบริษัทมีการลงทุนไปแล้วประมาณ 3.2 พันล้านบาทในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและรถไฟฟ้าสายสีเหลืองในกรุงเทพฯ รวมถึงโครงการผลิตน้ำประปาใน สปป. ลาว และโครงการสาธารณูปโภคขนาดเล็กอื่น ๆ ในประเทศไทย

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทใช้เงินลงทุน 4.3 พันล้านบาทเพื่อซื้อหุ้นในสัดส่วน 15.5% ใน บมจ. เชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) และ 10% ใน บมจ. พริ้นซิเพิล แคปิตอล (PRINC) โดยบริษัทเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพนั้นเป็นผู้ให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยานในสนามบินต่าง ๆ ในประเทศไทย ในขณะที่บริษัทพริ้นซิเพิล แคปิตอล นั้นเป็นเจ้าของและดำเนินงานโรงพยาบาล 11 แห่งทั่วประเทศ

  • มีสภาพคล่องที่แข็งแรง บริษัทมีสภาพคล่องที่แข็งแรง โดยแหล่งที่มาของเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดในมือและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวนประมาณ 5 พันล้านบาทและเงินกู้จากสถาบันการเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 4.7 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 นอกจากนี้ คาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานในระยะ 12 เดือนข้างหน้าอีกประมาณ 7-8 พันล้านบาท ในขณะที่อีก 12 เดือนข้างหน้านั้นบริษัทจะมีเงินกู้ที่ต้องชำระคืนจำนวน 3.5 พันล้านบาทและค่าใช้จ่ายลงทุนและเงินลงทุนในบริษัทร่วมทั้งที่มีข้อผูกพันและไม่มีข้อผูกพันอีกประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท
  • โครงสร้างหนี้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 บริษัทมีภาระหนี้รวม 4.38 หมื่นล้านบาท โดยหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนประกอบด้วยหนี้ที่มีหลักประกันจำนวน 1.87 หมื่นล้านบาทและเงินกู้ที่ไม่มีหลักประกันจำนวน 2 พันล้านบาทของบริษัทย่อยต่าง ๆ ทั้งนี้ อัตราส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อภาระหนี้ทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 47% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 โดยทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรักษาอัตราส่วนนี้ให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50% เอาไว้ได้ในระยะปานกลางและระยะยาว
  • เป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของ กฟผ. โดย กฟผ. มีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 45% นับตั้งแต่บริษัทก่อตั้งในปี 2543 ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ กฟผ. เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างการถือหุ้นและองค์ประกอบของคณะกรรมการบริษัท ทริสเรทติ้งเชื่อว่า กฟผ. มีอิทธิพลต่อทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทผ่านทางคณะกรรมการบริษัท โดยกรรมการบริษัทจำนวนครึ่งหนึ่งและคณะกรรมการการลงทุนทั้งหมดของบริษัทนั้นล้วนเป็นตัวแทนของ กฟผ. ทั้งสิ้น ในการนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่า กฟผ. จะยังคงการถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วนดังกล่าวต่อไปในอนาคต

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

  • กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในช่วง 9-9.5 พันล้านบาทในปี 2564 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.25-1.35 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2565-2566
  • เงินปันผลที่จะได้รับจากการลงทุนคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.5-2 พันล้านบาทในปี 2564 และจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 4.5-6.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2566
  • ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนและเงินลงทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นทั้งโครงการที่มีข้อผูกพันและไม่มีข้อผูกพันจะอยู่ที่ประมาณ 5.4 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2564-2566 ซึ่งรวมการลงทุนในโครงการ Paiton ด้วย
  • เงินเพิ่มทุนใหม่จะอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาทในปี 2565

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงได้รับกระแสเงินสดที่แน่นอนจากโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวต่อไป และทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ในช่วง 4-5 เท่าในระยะปานกลาง

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง ปัจจัยที่จะทำให้อันดับเครดิตได้รับการปรับเพิ่มขึ้นนั้นยังมีจำกัดในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้า ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตนั้นอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่อันดับเครดิตของ กฟผ. ถูกปรับลดลง หรืออันดับเครดิตเฉพาะ (Stand-alone Credit Profile - SACP) ของบริษัทถูกปรับลดลงต่ำกว่าระดับ "a+"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ