PTTEP คาดปริมาณขายปี 65 โตกว่า 6-7% หวังสรุปแผนผลิตแหล่งเอราวัณก่อนสิ้นปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 8, 2021 17:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เปิดเผยว่า บริษัทคาดปริมาณการขายปี 65 จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 6-7% จากปี 64 ที่คาดอยู่ในระดับ 4.17 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากรับรู้ปริมาณการขายโครงการ Block 61 ในประเทศโอมาน, โครงการซาบาห์แปลงเอชในประเทศมาเลเซียเข้ามาเต็มปี และจะพยายามรักษาระดับการผลิตของแหล่งบงกช (แปลง G2/61) ให้อยู่ในระดับราว 800-900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ขณะที่แหล่งเอราวัณ (แปลง G1/61) ก็จะเข้าเสริมด้วย แม้ปัจจุบัน บริษัทจะยังไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นผลิตและท่อใต้ทะเลได้ตามแผน และยอมรับเงื่อนไขการเข้าพื้นที่ของผู้รับสัมปทานเดิมแล้วก็ตาม แต่บริษัทก็ได้มีการเจรจากับผู้ซื้อและหน่วยงานรัฐอย่างต่อเนื่อง เพื่อวางแผนให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด คาดว่าจะได้ข้อสรุปก่อนสิ้นปีนี้

"การเข้าพื้นที่ยังเจรจาอยู่และยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งเมื่อเราเข้าไปแล้วจะมีส่วนหนึ่งที่ทางผู้ดำเนินการ หรือผู้รับสัมปทานรายเดิมต้องเข้ามารื้อถอน วันนี้เงื่อนไขของการเข้าพื้นที่เราพร้อม ส่วนที่เขายังไม่รับเงื่อนไข ทำให้ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่สิ่งที่เราคุยกับภาครัฐ หรือกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ การเข้าพื้นที่ไม่ได้ เราก็จะเร่งหากก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่นเข้าไปทดแทนก๊าซที่อาจจะหายไป ในวันที่เราเข้าพื้นที่ ซึ่งเราจะเข้าพื้นที่ได้แน่ๆ คือ 24 เม.ย.65 แต่ในช่วงนั้นการผลิตก๊าซจากแหล่ง G1 หรือโครงการที่จะต้องเปลี่ยนมือจากสัมปทานเป็นสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ในวันข้างหน้า ปริมาณก๊าซฯ จะลดลงจากเดิมที่เคยกำหนดไว้ แต่เราจะสามารถเร่งได้จากแหล่งบงกช และอาทิตย์ โดยภาพชัดๆ ที่แหล่งเอราวัณ ท้ายที่สุดจะมีกำลังการผลิตเท่าไหร่หลังออกจากสัมปทาน และเราเข้าไปแล้วจะผลิตเท่าไหร่ คงจะเห็นก่อนสิ้นปีนี้" นายมนตรี กล่าว

สำหรับแผนการหาก๊าซฯ สำรองมาทดแทนแหล่งเอราวัณ จากแหล่งอาทิตย์นั้น ปัจจุบันแหล่งอาทิตย์สามารถเพิ่มการผลิตได้ราว 60 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากแท่นผลิตที่มีอยู่ แต่สามารถวางหลุมผลิตได้มากขึ้น ขณะที่ในระยะต่อไปหากมีการวางแท่นผลิตเพิ่มจะเพิ่มกำลังการผลิตได้อีกประมาณ 110 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือปัจจุบันแหล่งอาทิตย์ มีกำลังการผลิตที่ 220 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน น่าจะปรับขึ้นเป็น 280 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้ในช่วงต้นปีหน้า และในอีก 2 ปีจะสามารถเพิ่มขึ้นไปได้ 330 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยรวมแล้วใน 2-3 ปีข้างหน้าจะเพิ่มได้ราว 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

อย่างไรก็ตาม การจะผลิตจากแหล่งอาทิตย์ทดแทนนั้น บริษัทจะต้องเจรจากับผู้ร่วมทุนเพื่อลงทุนเพิ่ม และนำเสนอกับผู้ซื้อ หรือ บมจ.ปตท. และภาครัฐ เพื่อให้มีข้อตกลงในการผลิตก๊าซฯ เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันเริ่มดำเนินการแล้วในส่วนของ 60 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันที่จะเพิ่มขึ้น

ส่วนแหล่งบงกช (แปลง G2/61) ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ได้กำหนดไว้ที่ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งจะเพิ่มได้อีก 820-850 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

นายมนตรี กล่าวว่า ราคาขายก๊าซฯ ในปีหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 5.7-6 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู และตั้งเป้าจะรักษาระดับต้นทุนต่อหน่วยที่ประมาณ 28-29 เหรียญฯต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคาที่ 70-75% ของรายได้จากการขาย ซึ่งจะใกล้เคียงกับปีนี้

ขณะเดียวกันมองราคาน้ำมันดิบในช่วงที่เหลือของปี 64 จะอยู่ระดับ 70-80 เหรียญฯ/บาร์เรล จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 80 เหรียญฯ/บาร์เรล จากคาดว่าโอเปกจะทยอยปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้น

"ดีมานด์ก๊าซฯ ของประเทศปี 65 เติบโตอย่างแน่นอน จากการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งเราก็พยายามเร่งสำรวจ เร่งหาแหล่งใหม่ โดยอยากผลักดันในระยะยาวให้ไทยเริ่มมองการเปิดสัมปทานเพิ่มในอ่าวไทยในแปลงอื่นๆ ที่มีศักยภาพที่ยังเหลืออยู่ เพราะเราเริ่มเห็นดีมานด์" นายมนตรี กล่าว

ด้านแผนการลงทุน บริษัทอยู่ระหว่างทบทวนแผน 5 ปี (64-68) คาดว่าจะประกาศได้ต้นเดือน ธ.ค.64 โดยเบื้องต้นการลงทุนจะใช้ในโครงการที่มีอยู่เดิม ส่วนโอกาสการเข้าซื้อกิจการ (M&A) บริษัทไม่ได้มีการกำหนดงบลงทุนเอาไว้ เนื่องจากหากมีโอกาสเข้ามาก็จะดูว่าโครงการนั้นเหมาะสมกับกลยุทธ์ของบริษัทหรือไม่ ซึ่งยังคงมองการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้ง ไทย มาเลเซีย เมียนมา รวมถึงตะวันออกกลาง เป็นต้น

ทั้งนี้ ความคืบหน้าการดำเนินงานในโครงการสำคัญ โดยโครงการในประเทศเมียนมา บริษัทยังคงดำเนินโครงการสำรวจและผลิตในประเทศเมียนมาเพื่อส่งก๊าซธรรมชาติสำหรับใช้ผลิตไฟฟ้าให้กับภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมของประเทศเมียนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทฯ ยังคงติดตามสถานการณ์ในประเทศเมียนมาอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินความเสี่ยงและพิจารณาแผนการดำเนินงาน และวางแผนรองรับตามความเหมาะสม

โครงการในประเทศมาเลเซีย ได้เริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติจากโครงการมาเลเซีย-แปลงเอช ตั้งแต่เดือนก.พ.ที่ผ่านมา โดยมีกำลังการผลิตสูงสุดอยู่ที่ 270 ล้านลูกบาศก์ฟุตตามเป้าหมาย ส่งผลให้ปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 1/64

นอกจากนี้ บริษัทยังประสบความสำเร็จในการเจาะหลุมสำรวจ ค้นพบแหล่งปิโตรเลียมใน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการซาราวัก เอสเค 410 บี (แหล่งลัง เลอบาห์) โครงการซาราวัก เอสเค 417 (หลุมโดกง-1) โครงการซาราวัก เอสเค 405 บี (หลุมซีรุง-1) และโครงการซาราวัก เอสเค 438 (หลุมกุลินตัง-1) และยังคงเดินหน้าสำรวจในแหล่งอื่น ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง โดยวางแผนพัฒนาโครงการในประเทศมาเลเซียในรูปแบบกลุ่มโครงการ (Cluster development) รวมถึงการใช้อุปกรณ์การผลิตและสิ่งอำนวยความสะดวกร่วมกัน เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โครงการในภูมิภาคตะวันออกกลาง โครงการโอมาน แปลง 61 ที่เสร็จสิ้นการเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุน 20% ในไตรมาส 1 และปัจจุบันสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติเต็มกำลังการผลิตที่ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และคอนเดนเสทที่ 69,000 บาร์เรลต่อวัน

สำหรับโครงการในระยะสำรวจที่สำคัญ คือ โครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 1, อาบูดาบี ออฟชอร์ 2 และอาบูดาบี ออฟชอร์ 3 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาทางธรณีวิทยา และวางแผนเจาะหลุมสำรวจ

โครงการในทวีปแอฟริกา มีความคืบหน้าที่สำคัญในโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ โดย PTTEP ได้เข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนในโครงการเพิ่มอีก 24.5% จากบริษัท ซีนุค (CNOOC Limited) ทำให้มีสัดส่วนการลงทุน เพิ่มขึ้นจาก 24.5% เป็น 49% โดยมีโซนาแทรค (SONATRACH) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของแอลจีเรีย เป็นผู้ร่วมลงทุนหลักในสัดส่วน 51% ทั้งนี้ คาดว่าโครงการดังกล่าว จะเริ่มผลิตน้ำมันดิบได้ในปี 65 ด้วยกำลังการผลิต ประมาณ 10,000 -13,000 บาร์เรลต่อวัน

นายมนตรี กล่าวว่า PTTEP ได้วางแนวทางการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างการเติบโตให้กับบริษัทฯ ในอนาคต โดยจะมุ่งเน้นใน 3 เรื่องหลัก ประกอบด้วย

1. สร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมซึ่งเป็นธุรกิจหลัก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน เน้นการลงทุนในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ ปตท.สผ. มีความชำนาญ ได้แก่ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันออกกลาง โดยจะเพิ่มสัดส่วนก๊าซธรรมชาติเป็น 80% และน้ำมัน 20% ควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านเทคโนโลยีการดักจับ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Storage หรือ CCS)

2. ลงทุนในธุรกิจใหม่ (Beyond E&P) 3 ด้าน คือ ธุรกิจด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ โดยลงทุนผ่านบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV), ธุรกิจไฟฟ้าที่ต่อยอดจากก๊าซธรรมชาติ เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ (Gas to Power), พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) จะมองหาโอกาสการลงทุนกับพันธมิตรที่มีศักยภาพ โดยล่าสุดได้จัดตั้งบริษัท ฟิวเจอร์เทค เอนเนอร์ยี่ เวนเจอร์ส จำกัด และบริษัท ฟิวเจอร์เทค โซลาร์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้วางเป้าหมายมีสัดส่วนกำไรจากธุรกิจใหม่ดังกล่าว ที่ 20% ในอีก 15-20 ปีข้างหน้า

3. ลงทุนในธุรกิจที่รองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน มุ่งสู่พลังงานสะอาด และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมองโอกาสการลงทุน ดังนี้ เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และ การกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage หรือ CCUS) และพลังงานรูปแบบใหม่ในอนาคต (Future Energy) เช่น พลังงานไฮโดรเจน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ