JVC เปิดตัว JNFT แพลตฟอร์ม NFT ซื้อขายผลงานศิลปะ,เล็งใช้ JFIN coin กับ BTS ในปี 65

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 16, 2021 17:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

JVC เปิดตัว JNFT แพลตฟอร์ม NFT ซื้อขายผลงานศิลปะ,เล็งใช้ JFIN coin กับ BTS ในปี 65

นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (JVC) บริษัทในเครือบมจ.เจ มาร์ท (JMART) กล่าวว่า บริษัทเตรียมเปิดตัวแพลตฟอร์ม JNFT Marketplace ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม NFT ที่อยู่ในรูปแบบของตลาดรอง (Secondary Martlet) ซึ่งได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในวันที่ 25 ธ.ค. 64 โดยจะเป็พลตฟอร์ม NFT แห่งแรกในประเทศไทยที่สามารถซื้อ ขาย ประมูล ผลงานศิลปะที่เป็นดิจิทัล บนระบบบล็อกเชนแบบไร้ศูนย์ (Decentralized) ผ่านการยืนยันสิทธิ์แทนการเป็นเจ้าของด้วยเหรียญที่ไม่สามารถแทนค่าหรือทำซ้ำได้ (Non-Fungible Token) รองรับงานศิลปะที่เป็นไฟล์ดิจิทัล ได้แก่ รูปภาพความละเอียดสูงที่เป็นฟอร์แมต JPG หรือ PNG รูปภาพเคลื่อนไหวในฟอร์แมต GIF หรือ MP4

โดยจุดเด่นของแพลตฟอร์ม JNFT ได้แก่ การเป็น Local Community Global Buyer ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตลาดกลางของคนไทย ศิลปินไทย และผู้ชื่นชอบที่จะสะสมงานศิลปะ รวมไปถึงนักลงทุนจากทั่วโลก เข้ามามีโอกาสได้พบปะแลกเปลี่ยนการขายสินทรัพย์ดิจิทัล ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงผลงานศิลปะได้อย่างกว้างขวาง การเป็นProfessional Listing ด้วยการทำงานบนมาตรฐาน ERC721 เทียบเท่ากับแพลตฟอร์ม NFT ระดับโลก และLow network Fee เนื่องจากแพลตฟอร์มพัฒนาบนบล็อกเชนของ Binance Smart Chain ที่มีความรวดเร็ว และมีค่าธรรมเนียมในการใช้งานราคาถูก

สำหรับการซื้อ ขาย และประมูลผลงาน NFT ในแพลตฟอร์ม JNFT จะใช้ Cryptocurrency 3 สกุลในการซื้อ ขาย และประมูล NFT ได้แก่ Jfin coin, BNB และ BUSD และใช้สกุล BNB ในการชำระค่าธรรมเนียมในการ Mint NFT ผ่านระบบบล็อกเชนของ Binance Smart Chain โดยที่ในช่วงแรกบริษัทจะเน้นการผลักดันผลงานศิลปะต่างๆของนักสร้างสรรค์ในประเทศไทยทั้งที่เป็นบุคคลและภาคองค์กรต่างๆ รวมถึงการสร้างชุมชน (Community) ของนักสะสม (Collector) NFT เพื่อทำให้ NFT ของไทยและแพลตฟอร์ม JNFT ได้รับความนิยมมากขึ้น และหลังจากนั้นจะมองหาโอกาสในการสร้างผลตอบแทนจากแพลตฟอร์ม JNFT เข้ามามากขึ้น

โดยที่บริษัทมองว่า NFT จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในโลกดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาทและสร้างโอกาสให้กับนักสร้างสรรค์ในประเทศที่สามารถนำผลงานออกมาสร้างรายได้ในโลกดิจิทัลได้มากขึ้น และเป็นโอกาสของกลุ่มนักสะสมที่สนใจสะสม NFT ได้มีพี้นที่ในการเข้ามาถึงการซื้อ ขาย และประมูล NFT มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะมีความสอดคล้องและเกี่ยวโยงกับการพัฒนาไปสู่ Metaverse ซึ่ง NFT จะเปรียบเสมือนสิ่งของที่จะต้องมีในโลกของ Metaverse ขณะเดียวกันการพัฒนาของ เจ เวนเจอร์ส ยังคงมีการเดินหน้าในการพัฒนาแพลตฟอร์มและการบริการด้านดิจิทัลต่างๆ โดยเฉพาะการนำ Jfin coin มาใช้ในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานกระเป๋า Jfin coin อยู่จำนวน 500,000 กระเป๋า ซึ่งส่วนใหญ่ยังอยู่ในกลุ่มของ JMART และในปี 65 จะนำ Jfin coin เริ่มมาใช้กับ BTS ซึ่งเป็นพันธมิตรกับกลุ่ม JMART ทำให้การใช้ Jfin coin จะมีการใช้มากขึ้น อีกทั้งยังจะเตรียมในเรื่องการนำบริการและการพัฒนาระบบของเจ เวนเจอร์ส ออกไปให้บริการนอกกลุ่ม JMART เพิ่มเติม โดยเฉพาะในด้านธุรกิจ Digitization ในการพัฒนาระบบ Fintech ที่ในปัจจุบันมีการทำระบบให้กับกลุ่ม JMART ในเรื่องการชำระเงินและการกู้ยืม

นอกจากนี้ในส่วนของธุรกิจที่ปรึกษาการพัฒนาระบบในด้านบล็อกเชน จะเริ่มมองหาโอกาสในการเข้ารับงานพัฒนาระบบให้กับผู้ประกอบการอื่นๆนอกกลุ่ม JMART ด้วยเช่นกัน เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตของธุริกจในอนาคต ซึ่งบริษัทเชื่อว่าผู้ประกอบการหลายๆรายจะเริ่มหันมาลงทุนเกี่ยวกับการพัฒนาระบบดิจิทัลมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคม

สำหรับ Corporate NFT เป็นการร่วมมือระหว่าง JNFT กับองค์กรธุรกิจที่จะสร้างสรรค์งาน NFT ระดับองค์กร ไม่ว่าจะเป็น บริษัท BECI Corporation จำกัด บมจ. เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ (WORK) บมจ. โมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป (MODERN) บมจ. สหพัฒนพิบูล (SPC) และ The Moon : Crypto & NFT Cafe ซีคอนสแควร์

ปัจจุบันรายได้หลักของบริษัทยังคงมาจากการให้บริการต่างๆในกลุ่ม JMART เป็นหลัก ซึ่งเป็นรายได้หลักที่ทำให้ผลงานของบริษัทในปี 64 จะเริ่มมีกำไร และเตรียมความพร้อมในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯภายในปี 65 โดยที่ปัจจุบันธุรกิจของเจ เวนเจอร์ส ประกอบด้วย 4 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจการลงทุนในดิจิทัล (Digital Venture) ธุรกิจแพลตฟอร์ม ธุรกิจการพัฒนา Digitization และธุรกิจที่ปรึกษาด้านดิจิทัล โดยในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ใช้เงินลงทุนไปในการพัฒนาธุรกิจราว 80 ล้านบาท จากเงินที่ได้จากบริษัทแม่และเงินที่ได้จากการระดมทุนผ่าน ICO รวม 300 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ