KBANK มองศก.โลกเสี่ยงถดถอยหลังเงินเฟ้อสูง-เฟดขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มภาระหนี้ฉุด GDP

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 19, 2022 14:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกจากนี้ไป อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว จนเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19, สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน, การคว่ำบาตร สร้างแรงกดกันต่อภาวะอุปทาน และส่งผลให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว จึงกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปรับตัวลง เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้น

นอกจากนี้การที่มีเงินเฟ้อสูงกว่าปกติก็จะกดดันให้ธนาคารกลางปรับให้นโยบายการเงินตึงตัว เพื่อลดกำลังซื้อและอุปสงค์ โดยตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 7-8 ครั้ง ซึ่งตามประวัติศาสตร์แล้วในรอบ 14 ครั้งที่เฟดมีการปรับนโยบายการเงินให้ตึงตึงมากขึ้น โดย 11 ครั้งจะจบด้วยภาวะถดถอย หรือ GDP จะปรับตัวลงอย่างน้อย 2 ไตรมาสติดต่อกัน

ทั้งนี้ อุปสรรคที่เฟดจะปรับให้นโยบายการเงินตึงตัว คือ ภาวะหนี้ได้ปรับตัวสูงขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับอดีต ทำให้มองว่าการที่จะขึ้นดอกเบี้ยโดยไม่มีผลข้างเคียงก็อาจจะไม่เป็นเช่นนั้น ซึ่งหากเฟดขึ้นดอกเบี้ยอีก 7-8 ครั้ง ต้นทุนของเศรษฐกิจก็จะปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรง เช่น ทุกๆ การขึ้นดอกเบี้ย 0.25% โดยเฉลี่ยจะเพิ่มภาระหนี้ให้กับเศรษฐกิจราว 162,000 ล้านเหรียญฯ และถ้าปีนี้ขึ้นดอกเบี้ยอีก 11 ครั้ง จะเพิ่มภาระหนี้ต่อ GDP อีก 7.4% ซึ่งจะเป็นการฉุดรั้งทางเศรษฐกิจมากขึ้น

สำหรับเศรษฐกิจไทย GDP ไตรมาส 1/65 เติบโต 2.2% ได้อานิสงส์จากการผ่อนคลายมาตรการการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งหลักจะมาจากภาคโรงแรมและอาหาร แต่การเติบโตยังคงต่ำกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค ขณะที่ทั้งปี 65 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็คาดการณ์ GDP จะเติบโต 3.7% ส่วนของ KBANK ได้ปรับลดการเติบโตของ GDP ลงเหลือโต 2.9% จากเดิมที่คาดโต 3.7% จากภาคการท่องเที่ยวหนุน ซึ่งต้องติดตามว่านักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้จะมีจำนวน 4 ล้านคนหรือไม่

ด้านค่าเงินบาท คาดว่าจะอยู่ที่ 33.5 บาท/ดอลลาร์ภายในสิ้นปีนี้ จากภาคบริการที่ชะลอตัว และเจอแรงกดดันจากข่าวเชิงลบจากจีน นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ และการจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนไทย อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวจะช่วยสนับสนุนค่าเงินบาทในระยะถัดไป

ส่วนเรื่องของดอกเบี้ย คาดว่า ธปท.จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้ง ในไตรมาส 4/65 โดยมีอัตราการเติบโตราว 2% ซึ่งยังไม่ถึง 3% ถือว่ายังต่ำอยู่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ