TOP คาดผลงาน Q2/65 โตต่อจาก GIM ยังดี-บุ๊กกำไรขายหุ้น GPSC หนุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 20, 2022 12:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐพล นพรัตน์วงศ์ ผู้จัดการฝ่ายวางแผนการพาณิชย์ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) เปิดเผยว่า บริษัทคาดผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/65 จะยังเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 1/65 แม้กำไรสต็อกน้ำมันจะไม่ได้สูงเท่ากับไตรมาสแรก เนื่องจากราคาน้ำมันทรงตัวถึงอ่อนตัวลง แต่ค่าการกลั่น GIM ยังอยู่ในระดับที่ดี เพราะได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันฟื้นตัว หลังหลายประเทศทั่วโลกเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด และภาวะอุปทานตึงตัวจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย

นอกจากนี้ บริษัทจะสามารถบันทึกกำไรจากการขายหุ้น บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เข้ามาในไตรมาส 2/65 โดยจะรับรู้กำไรจากการขายเงินลงทุนและกำไรจากการเปลี่ยนแปลงบันทึกบัญชีเงินลงทุน GPSC ประมาณ 11,000 ล้านบาท ซึ่งจะหนุนผลประกอบการให้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

นายณัฐพล กล่าวว่า ทิศทางราคาน้ำมันดิบจากนี้ไปคาดว่าจะทรงตัวถึงอ่อนตัวลงเล็กน้อย จากปัญหารัสเซียและยูเครน โดยรัสเซียถือเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก หรือมีปริมาณการส่งออกราว 4.5 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งราว 3 ล้านบาร์เรลส่งไปที่ยุโรป แต่หลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซียและยูเครนขึ้น ทำให้ยุโรปลดการซื้อน้ำมันจากรัสเซียลงไปราว 1 ล้านบาร์เรล/วัน แม้ปัจจุบันก็เห็นการกลับเข้ามาซื้อเพิ่ม ทำให้การส่งออกของรัสเซียยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่หลายสำนักก็คาดการณ์ว่าปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการผลิตของรัสเซียได้ในอนาคต โดยคาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบราว 1-2.8 ล้านบาร์เรล/วัน

ขณะที่มองว่าจะมีซัพพลายจากผู้ผลิตรายอื่นเข้ามาเติมเต็มในส่วนที่หายไป ได้แก่ การปล่อยน้ำมันทางยุทธศาสตร์ของหลายประเทศที่ร่วมมือกัน ราว 240 ล้านบาร์เรลในช่วง 6 เดือนข้างหน้า หรือคิดเป็น 1.0-1.3 ล้านบาร์เรล/วัน, กลุ่มโอเปกพลัส มีข้อตกลงจะเพิ่มกำลังการผลิต โดยล่าสุดระบุว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 432,000 บาร์เรล/วัน และประเทศนอกกลุ่มโอเปก อย่าง สหรัฐฯ ที่มีการคาดการณ์ว่าจะผลิตเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 700,000 แสนบาร์เรล/วัน และบราซิล เพิ่มขึ้นประมาณ 300,000 บาร์เรล/วัน ทำให้โดยรวมแล้วประเทศนอกกลุ่มโอเปกจะเพิ่มขึ้นถึง 2.3 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ซัพพลายโดยรวมในช่วงที่เหลือของปีน่าจะค่อยๆ ปรับตัวขึ้น

"เรามองว่าราคาน้ำมันจะทรงตัวได้ในระดับสูง จะต้องมาจากกำลังการผลิตส่วนที่เหลือของประเทศหลักๆ โดยเฉพาะกลุ่มโอเปก ซึ่งไปจนถึงปลายปีเราจะเหลือกำลังการผลิตไม่ถึง 2 ล้านบาร์เรล/วัน หากมีเรื่องของซัพพลายดิสรัปชันเกิดขึ้น หรือมีบางประเทศมีปัญหากับการผลิต ก็จะทำให้ราคาน้ำมันดีดกลับขึ้นมาได้อีกครั้ง" นายณัฐพล กล่าว

ส่วนเหตุระเบิดโรงกลั่น Onsan ของบริษัท S-Oil ซึ่งเป็นบริษัทกลั่นน้ำมันรายใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศเกาหลีใต้ มีหน่วยกลั่นน้ำมันดิบ 3 หน่วย โดยมีกำลังการผลิตรวม 580,000 บาร์เรล/วัน คาดว่าจะกระทบต่อหน่วยการผลิตแก๊สโซลีน และอะโรเมติกส์บางส่วน และในช่วงที่ราคาน้ำมันเบนซินในภูมิภาคที่ปัจจุบันตึงตัวอยู่แล้ว ก็จะเป็นปัจจัยหนุนให้มาร์จิ้นยืนในระดับสูงต่อเนื่อง

ด้านดีมานด์การใช้น้ำมันปีนี้ คาดว่าจะเติบโตกว่าปีก่อน โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังนี้คาดว่าจะเติบโตราว 2-3 ล้านบาร์เรล/วัน หลักๆ เป็นเรื่องของการปลดล็อกดาวน์ของหลายประเทศ ส่งผลให้การเดินทางกลับมาเป็นปกติ ขณะที่ความเสี่ยงจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตามหากดูซัพพลายและดีมานด์ ภาพรวมในไตรมาส 2/65 จะเห็นว่าตลาดเริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น และคาดจะดีต่อเนื่องไปในครึ่งปีหลังนี้

นายณัฐพล กล่าวว่า สำหรับภาพรวมของตลาดปิโตรเคมี โดยอะโรเมติกส์ ยังอยู่ในภาวะโอเวอร์ซัพพลาย ทำให้กดดัน Spread Px และเบนซีน แต่ในช่วงสั้นคาดรีบาวด์ขึ้นมาได้บ้าง เนื่องจาก Spread ที่ปรับตัวลงต่ำ ก็จะมีการประกาศลดกำลังการผลิต ทำให้ซัพพลายหายไปจากตลาดได้บ้าง ส่วนภาพของโอเลฟินส์จะคล้ายกับอะโรเมติกส์ เนื่องจากในช่วง 1-2 ปีนี้จะมีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาทั้ง PE, PP ก็จะทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตของภูมิภาคเอเชียอยู่ในระดับต่ำ แต่คาดว่าในปี 67 เป็นต้นไป อัตราการใช้กำลังการผลิตจะเริ่มดีขึ้น รวมถึง Spread ด้วย

พร้อมกันนี้ในส่วนของโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project: CFP) คาดว่าการดำเนินการเชิงพาณิชย์จะล่าช้าไปอีก 1 ปี หรือจะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 67 จากเดิมคาดปี 66 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ต้องปิดไซต์ก่อสร้างในช่วงที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ